ปิแอร์ บอนนารด์ สิงห์หนุ่มแห่งโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์
.jpg)
ปิแอร์ นิยมสร้างสรรค์งานจากความทรงจำ เขามักอาศัยภาพดรออิงที่สเกตช์แบบเอาไว้เป็นตัวช่วยแทนที่แบบตัวเป็นๆ โดยมักมีโน้ตเกี่ยวกับสีสันที่จะใช้เขียนกำกับไว้
.jpg)
ภาพส่วนใหญ่ของเขามักเป็นเรื่องราวง่ายๆ ในบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดของภรรยา มาร์ต เดอเมอลินญี
ความโดดเด่นในผลงานของปิแอร์ บอนนารด์ อยู่ที่การไม่ยึดติดองค์ประกอบภาพแบบเดิมๆ หันไปเน้นเรื่องของสีสัน และสร้างเรื่องราวในภาพราวบทกวี หรือความเรียงที่ให้ข้อคิด ตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่แวดวงศิลปะต่างก็ยอมรับในผลงานที่มีสีสันแปลกไม่ซ้ำใคร รวมทั้งเต็มไปด้วยจินตนาการสุดซับซ้อน
โรเบอร์ตา สมิธ นักวิจารณ์ศิลปะชาวอเมริกันบอกว่า การเลือกใช้สีของเขาไม่ใช่เพียงความแตกต่างที่เห็นได้ด้วยตา ทว่า เปี่ยมไปด้วยความร้อนแรงแห่งอารมณ์ ที่ห่มคลุมไปด้วยม่านสีสุดนวลเนียนแต่ร้อนแรง ผสานกับองค์ประกอบที่คาดไม่ถึง และรูปทรงอันแปลกประหลาด

ในปี 1891 เขาได้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการประจำปีของกลุ่มศิลปินอิสระ อย่างโซซิเอเต เดส์ อาร์ติสต์ส แองเดปองด็องต์ส (Société des Artistes Indépendants) และปีเดียวกัน ยังได้ร่วมงานกับนิตยสาร La Revue Blanche ซึ่งเขาและเอดูอารด์ ฟุยยารด์ ได้ช่วยกันออกแบบปกของนิตยสารเกี่ยวกับศิลปะและกวีฉบับนี้
ในวัยต้น 20 เขาและเพื่อนศิลปินหนุ่มๆ วัยเดียวกัน อย่าง เอดูอารด์ ฟุยยารด์ โมริซ เดอนีส์ ฯลฯ ได้ร่วมกันตั้งกลุ่มนาบีส์โดยเป็นการรวมพวกหัวก้าวหน้า ทั้งสาขาจิตรกรรม กราฟฟิกอาร์ต และวรรณกรรม สมัยโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ นอกจากวัยใกล้เคียงแล้ว สมาชิกส่วนใหญ่ยังจบการศึกษาจากโรงเรียนศิลปะเอกชน โรโดล์ฟ ชูเลียง กรุงปารีสช่วงทศวรรษที่ 1880 อีกด้วย
.jpg)
ปิแอร์ ออกจากกรุงปารีสไปอาศัยที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสในปี 1910 จากบันทึกของเพื่อนๆ และนักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างบอกว่า เขาเป็นคนที่เงียบ รักสันโดษ และมีโลกส่วนตัวสูงมาก ด้วยความที่เกิดในตระกูลร่ำรวย เขาจึงปราศจากความเครียดทั้งปวง การสร้างสรรค์งานศิลปะของเขาราวกับเป็นหนทางสู่ปัญญา เป็นเครื่องมือแห่งความหลุดพ้น
.jpg)
ภาพวาด มาร์ต ภรรยาของเขาเอง เป็นชิ้นงานที่โดดเด่นอยู่หลายทศวรรษ ไม่ว่าจะป็นภาพที่เธอนั่งในครัวบริเวณโต๊ะที่มีอาหารเหลือๆ หรือภาพนู้ดของเธอในอ่างอาบน้ำ ฯลฯ นอกจากนี้ ปิแอร์ ยังวาดภาพเหมือนตัวอง ภาพแลนด์สเคป ภาพฉากบนท้องถนน รวมถึงภาพหุ่นนิ่งอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปผลไม้และดอกไม้
หลังจากที่เขาเสียชีวิตในปี 1947 ดูเหมือนว่าจะเอาผลงานและชื่อเสียงที่สร้างมาลงหลุมไปด้วย กว่าจะหวนคืนบัลลังก์ศิลปะอีกครั้งก็ปาเข้าไปปี 1998 ที่มีการจัดนิทรรศการรำลึกถึงเขา 2 ครั้ง ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และกรุงนิวยอร์ก สหรัฐ และหลังจากนิทรรศการ Pierre Bonnard : The Late Interiors ที่เดอะ เม็ตส์ กรุงนิวยอร์ก ซึ่ง เจด เพิร์ล นักวิจารณ์ศิลปะได้เขียนอวยเขามากมาย ผลงานของเขากลายเป็นที่จับตาของนักสะสม
ภาพ Terrasse à Vernon สร้างสถิติที่สถาบันประมูลคริสตีไปในราคา 8.5 ล้านยูโร (หรือราว 300 ล้านบาท) โดยในปี 2014 มีการเจอภาพ La Femme aux Deux Fauteuils (Woman with Two Armchairs) มูลค่า 6 แสนยูโร (ราว 20 ล้านบาท) ซึ่งถูกขโมยไปจากลอนดอน ปี 1970 ที่อิตาลี พร้อมกับภาพเขียนของโปล โกแกง Fruit on a Table with a Small Dog โดยพนักงานบริษัท เฟียต ผู้ครอบครองภาพ เล่าว่า ซื้อมาจากตลาดของเก่าในปี 1975
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น