วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หรือเฟอร์เมียร์มีนัยน์ตาเหยี่ยว

หรือเฟอร์เมียร์มีนัยน์ตาเหยี่ยว

ภาพเขียนจากศตวรรษที่ 17 ของโยฮันเนส (ยาน) เฟอร์เมียร์ ที่วาดได้ละเอียดชัดเจนราวกับภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพวาดชีวิตผู้คนในบ้าน ซึ่งเป็นฉากซ้ำๆ นางแบบ/นายแบบหน้าเดิมๆ โดยในยุคสมัยของเขานั้นไม่ประสบความสำเร็จ (ทางด้านรายได้) สักเท่าไร ขณะที่เขาจากไปได้ทิ้งหนี้สินจำนวนมากไว้ให้ภรรยาและลูก

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ ยาน เฟอร์เมียร์ สร้างสรรค์งานไว้จำนวนน้อยนิดเท่านั้นเอง เขาค่อยๆ บรรจงจรดฝีแปรงลงในแต่ละภาพอย่างเชื่องช้า ละเอียดลออ นอกจากใส่ใจกับรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว ทั้งเหลี่ยมมุมสุดเป๊ะของภาพ อีกทั้งแสงเงาเสมือนจริงมากๆ แล้ว เขายังนิยมใช้สีสันจัดจ้าน อีกทั้งสีที่หายาก ราคาแพง อย่างเช่น สีน้ำเงินอมม่วงของลาพิส ลาซูลี หรือสีเหลืองอินเดียน

ความก้าวล้ำในผลงานศิลปะของยาน เฟอร์เมียร์ ถูกค้นพบในขณะที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว (ด้วยวัยเพียง 40 กว่าปีเท่านั้น) นานกว่า 2 ศตวรรษทีเดียว โดยในยุคสมัยของเขานั้น ยาน ไม่ได้นับเป็นศิลปินดัตช์ตัวกลั่น  กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีคนค้นพบและเริ่มศึกษาผลงานของเขาอย่างจริงจัง ว่ามันมีคุณค่าแห่งความเนี้ยบ ละเอียดลออ ประณีตขนาดไหน
ยาน เฟอร์เมียร์

กุสตาฟ ฟรีดริกซ์ วาเกน และเตโอฟิล ตอเร่-เบอร์เกอร์ เป็นคนที่ค้นพบภาพเขียนของเขาในศตวรรษที่ 19 และนำ 66 ภาพนั้นมาตีพิมพ์ร่วมกับความเรียงของพวกเขา (ที่ได้การยอมรับว่าเป็นผลงานจริงของเขามีเพียง 34 ภาพ) นับแต่นั้นมา ยาน เฟอร์เมียร์ จึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะศิลปินเอกคนหนึ่ง ในยุครุ่งเรืองของศิลปะดัตช์

อย่างไรก็ตาม พวกเรารู้จักเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและงานของยาน เฟอร์เมียร์น้อยมาก เพราะแทบไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเขาหลงเหลืออยู่เลย ทุกคนรู้เพียงแต่ว่าเขาเกิด อาศัย และทำงานอยู่ที่เมืองเดลฟต์ ทางตอนใต้ของประเทศเนเธอร์แลนด์ แค่นั้นเอง จน เตโอฟิล ตั้งฉายาให้เขาว่า The Sphinx of Delft หรือผู้ลึกลับแห่งเดลฟต์ นั่นเอง

บางสิ่งที่ลึกลับยิ่งมีหลากหลายคนต้องการจะค้นหา ยาน เฟอร์เมียร์ ได้รับการกล่าวถึงในนิยาย บทเพลง และภาพยนตร์ของยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนิยายของอกาธา คริสตี้ เรื่อง After the Funeral หรือ In Search of Lost Time ของมาร์เซล เพราสต์ รวมทั้งในนิยายเรื่อง Hannibal ของโทมัส แฮร์ริส แต่ที่ป๊อปปูลาร์ของยุคนี้ ต้องยกให้หนังและหนังสือ Girl with a Pearl Earring ที่ทำให้ชื่อของจิตรกรดัตช์โด่งดังไปทั่วโลก
แม้ จะเริ่มต้นการเขียนภาพแบบธรรมดาๆ เช่นเดียวกับจิตรกรคนอื่นๆ แต่จุดหักเหของยาน เฟอร์เมียร์ อยู่ตรงที่เขาเริ่มเลือกใช้สีที่แตกต่าง

ไม่มีจิตรกรในศตวรรษที่ 17 คนไหนใช้สีจากหินลาพิส ลา ซูลี ที่มอบสีน้ำเงินแบบเจิดจ้า นอกจากนี้ ผลงานจำนวนมากที่เขาสร้างสรรค์ภายในห้องๆ เดียวนั้น มีการผสมผสานทั้งอินทีเรียร์ดีไซน์ (ก่อนจะถึงยุคอาร์ตเดโค) และเรียลลิสม์ โดยนอกจากเขาจะพยายามใช้สีสันที่เหมือนจริงของสิ่งนั้นๆ มากที่สุดแล้ว เขายังไม่มองข้ามรายละเอียด ไม่ว่าจะเล็กๆ น้อยๆ เพียงใด ไม่ว่าจะเป็นแสงเงาที่สาดลงบนผนังห้อง เสื้อผ้า หน้า ผม เงาสะท้อนของทุกสิ่งบนวัตถุที่เป็นเงามัน ฯลฯ จนเป็นภาพเขียนที่ออกมาเหมือนจริงราวกับภาพถ่าย

นักวิจารณ์/วิจัยศิลปะสงสัยกันมากว่า ยาน เฟอร์เมียร์ สร้างสรรค์ผลงานแบบนั้นออกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักฐานว่า เขาศึกษาทางด้านศิลปะกับครูบาอาจารย์คนไหนมา และแทบไม่มีหลักฐานเป็นผลงานภาพสเกตช์ก่อนหน้านี้ของเขาเลย
ใน ปี 2001 เดวิด ฮอคนีย์ จิตรกรดังชาวอังกฤษ ออกหนังสือ Secret Knowledge: Rediscovering the Lost Techniques of the Old Masters และพูดถึงทั้งยาน เฟอร์เมียร์ รวมถึงจิตรกรเรอเนสซองซ์์หลายคนอย่าง ฮันส์ โฮลไบน์ และดิเอโก เบลาซเกซ ว่าคงต้องใช้อุปกรณ์พิเศษเป็นกระจกโค้ง ร่วมกับคาเมรา ออบสคูร่า และคาเมรา ลูซีดา (อุปกรณ์ที่ใช้หลักการสะท้อนภาพผ่านเลนส์ก่อนจะพัฒนาเป็นกล้องถ่ายรูปทำให้ เห็นภาพชัด และขยายดูด้วยกระจกโค้ง ทำให้เห็นรายละเอียดชัดยิ่งขึ้น)  

ในปี 2008 นักลงทุนที่ไม่ได้มีความรู้ทางด้านศิลปะ ทิม เจนิสัน เชื่อมั่นในทฤษฎีของเดวิด ได้จัดการสร้างห้องๆ หนึ่งที่เหมือนกับภาพเขียนของยาน เฟอร์เมียร์ พร้อมทั้งใช้อุปกรณ์อย่างที่ว่า ลองวาดภาพ The Music Lesson หรือ A Lady at the Virginals with a Gentleman ออกมา (ขั้นตอนการทำงานอยู่ในหนังสารคดี Tim’s Vermeer ปี 2013) ซึ่งมีหลายๆ จุดพิสูจน์ให้น่าเชื่อได้ว่า จิตรกรเอกชาวดัตช์ใช้อุปกรณ์ที่ว่าเป็นตัวช่วยในการวาดภาพจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของลำแสงฟรุ้งฟริ้งที่ตกกระทบกำแพงห้องในภาพ และยังมีเงาสะท้อนใบหน้าของเด็กสาวบนเปียโน ซึ่งทิมได้ไปถามความเป็นของผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาและการมองเห็น ว่าเป็นไปได้ไหมที่คนเราจะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ แบบนี้ แล้ววาดออกมาเป็นภาพได้

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า คงต้องมีสายตาแบบเหยี่ยวเท่านั้นหละครับ...

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ยังเป็นที่ถกเถียง โยฮันเนส หรือยาน เฟอร์เมียร์ ยังคงเป็น สฟิงซ์แห่งเดลฟต์ ที่มีคนรู้ความเป็นไปเกี่ยวกับตัวเขาน้อยมากอยู่ดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น